สวัสดีครับช่วงนี้มีหลายคนถามกันเข้ามาว่า โรคขาด G6PD คืออะไร ทำไมคนที่เป็นโรคขาด G6PD ถึงรับประทานอาหารบางชนิดไม่ได้ หรือไม่ควรจะรับประทานยาบางอย่าง
สวัสดีครับช่วงนี้มีหลายคนถามกันเข้ามาว่า โรคขาด G6PD คืออะไร ทำไมคนที่เป็นโรคขาด G6PD ถึงรับประทานอาหารบางชนิดไม่ได้ หรือไม่ควรจะรับประทานยาบางอย่าง แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคนี้หรือเปล่า ตรวจ DNA ดูได้หรือปล่าว วันนี้ผู้เขียนมีบทความเกี่ยวกับโรคขาด G6PD มานำเสนอครับ
G6PD(จี-ซิกซ์-พี-ดี) คือชื่อของเอนไซม์(ตัวเร่งปฏิกิริยาทางเคมี) ที่มีชื่อเต็มว่า Glucose 6 Phosphate Dehydrogenase ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้มีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาในการแปรรูปน้ำตาลภายในเซลล์ให้เกิดสารให้พลังงาน(NADPH)
G6PD นี้สามารถพบได้ในทุกเซลล์ของร่างกายเรา แต่มีบทบาทอย่างยิ่งในเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดแดงนี้ ก็คือเซลล์หลักๆในเลือดของเรา มีหน้าที่ในการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย สารให้พลังงาน(NADPH) ที่ได้จากปฏิกิริยาที่แล้วจะมีส่วนช่วยให้เกิดสารกลูต้าไธโอน (Glutathione) ซึ่งมีหน้าที่ในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระต่างๆ ทำให้เม็ดเลือดแดงแข็งแรง คงทนต่อสารอนุมูลอิสระ ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่แตกตัวง่าย
คนที่เป็นโรคขาดเอนไซม์ G6PD(G6PD deficiency) จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงไวต่อสารอนุมูลอิสระกว่าคนทั่วไป ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกตัวได้ง่ายกว่าปกติ เกิดเป็นภาวะโลหิตจาง ซีด ปัสสาวะสีโค้ก และอาจจะเกิดไตวายเฉียบพลันได้หากมีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงจำนวนมากพร้อมๆกัน
โรคขาด G6PD เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่เกิดขึ้นบนโครโมโซมเพศ(x linked recessive) ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติจากเอนไซม์ของเม็ดเลือดแดงที่พบได้บ่อยที่สุด ความรุนแรงของตัวโรคขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นขาดเอนไซม์มากขนาดไหน คนส่วนมากที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการอะไร ในบางคนแสดงอาการเป็นบางครั้งบางคราว(เมื่อมีสารอนุมูลอิสระมาก) ส่วนน้อยที่แสดงอาการเรื้อรังตลอดเวลา เชื่อกันว่าการมีอยู่ของโรคขาด G6PD นั้นมีข้อดีในพื้นที่ ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย เนื่องจากคนที่เป็นโรคขาด G6PD แล้วไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย หากติดเชื้อมาลาเรียเข้าไปจะมีโอกาสที่จะเสียชีวิตน้อยกว่าคนปกติ
โดยปกติแล้ว จะรู้ว่าคนคนนั้นเป็นโรคได้ตั้งแต่แรกคลอด/หลังคลอด เช่นทารกที่มีภาวะเหลือง หรือโตขึ้นมามีอาการในภายหลังเมื่อได้รับความเจ็บป่วย(ติดเชื้อ) หรือได้รับยาบางชนิด หรือรับประทานอาหารบางชนิดเข้าไป แล้วมีอาการแสดงปัสสาวะสีโค้กและมีภาวะโลหิตจาง
การวินิจฉัยตามโรงพยาบาลโดยปกติจะทำการทดสอบเบื้องต้น(Screening test) ในรายที่หมอสงสัยว่าจะเป็นโรค เช่นคนไข้มีประวัติเข้าได้กับตัวโรค ตรวจร่างกายเข้าได้กับตัวโรค ส่องกล้องกล้องจุลทรรศน์พบความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงเข้าได้กับตัวโรค
จากนั้นเมื่อพบว่าน่าจะเป็นโรคนี้จริง จะทำการตรวจยืนยันอีกครั้ง(Confirmatory test) ด้วยวิธีการวัดความสามารถในการทำปฏิกิริยาทางเคมีของเอนไซม์ G6PD (G6PD assay) ก็จะสามารถบอกได้ว่าคนไข้รายนั้นขณะนี้เม็ดเลือดแดงมีภาวะขาด G6PD อยู่หรือไม่
ส่วนการตรวจยืนยัน(Confirmatory test) โดยใช้วิธี molecular/genetic/DNA นั้นสามารถทำได้ แต่ไม่ได้ใช้กันทั่วไป เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการตรวจนานกว่า และค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่มีข้อดีคือ สามารถหาพาหะโรคขาด G6PD ในผู้หญิงที่มีการทำงานของเอนไซม์ G6PD ปกติ/เกือบปกติได้ และสามารถตรวจความรุนแรงของตัวโรคได้
ภาพจากกล้องจุลทรรศน์ของคนไข้โรค G6PD deficiency
เชื่อหรือไม่ว่าคนไทยเป็นโรคขาด G6PD และไม่ค่อยจะแสดงอาการ มากถึง 7.7% ของประชากรเลยทีเดียว โดยปกติแล้วโรคขาด G6PD มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดความรุนแรงของตัวโรคไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ผิดปกติบนสาย DNA ถ้าเกิดความผิดปกติตรงจุดที่ตัวเอนไซม์ใช้ทำงาน(Binding site) ความรุนแรงของตัวโรคก็จะแรงเป็นพิเศษ โชคทีที่ชนิดรุนแรงนี้พบได้ในชาวไทยน้อยในประชากรไทย จะพบโรคขาด G6PD ชนิดเวียงจันทร์(Viangchan) 83.3%, ชนิดมหิดล(Mahidol) 11.9% และชนิดยูเนี่ยน(Union) 4.8% ซึ่งโรคขาด G6PD แต่ละชนิดที่ว่านี้เป็นการแปรผันของ DNA คนละตำแหน่งกัน
การตรวจ DNA test กับทาง GeneusDNA นั้นตรวจหาความแปรผันของ DNA ที่ตำแหน่ง ยีน G6PD(Val321Met) marker rs137852327 ดังนั้นจึงสามารถบอกความเสี่ยงในการเป็นโรคขาด G6PD ชนิดเวียงจันทร์(Viangchan) ได้ หากว่าผลตรวจออกมา ไม่พบความเสี่ยงในการเป็นโรคขาด G6PD ยังมีโอกาสที่เราจะเป็นโรคขาด G6PD ชนิดอื่นได้อยู่
ยังมียา และสารต่างๆอีกมากมายที่คนไข้ควรจะหลีกเลี่ยง หากมีข้อสงสัยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับบทความนี้ หวังว่าผู้อ่านจะได้เข้าใจถึงตัวโรคขาด G6PD เนื่องจากเป็นโรคที่เจอได้บ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนไทย ผู้เขียนอยากให้ตระหนักว่าหากตรวจพบว่า ผู้ชายเป็นโรค หรือ ผู้หญิงเป็นพาหะของโรคนี้ก็มีโอกาสส่งต่อพันธุกรรมดังกล่าวไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลานเราต่อไปได้
Reference :
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/30922678
https://www.verywellhealth.com/things-to-avoid-if-you-have-g6pd-deficiency-401319