microbiome

Microbiome หรือ ยีนของจุลชีพที่อาศัยอยู่ร่วมกับร่างกายของเรามาตั้งแต่เกิด สิ่งเหล่านี้มันมีผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกายเราได้มากน้อยแค่ไหน

 

Microbiome หรือ ยีนของจุลชีพที่อาศัยอยู่ร่วมกับร่างกายของเรามาตั้งแต่เกิด สิ่งเหล่านี้มันมีผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกายเราได้มากน้อยแค่ไหน วันนี้ Geneus จะมาให้คำตอบกัน

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่าจุลชีพมาก่อน ใกล้ตัวที่สุดเลย แทบทุกคนคงจะเคยได้ยินว่าในนมเปรี้ยวพร้อมดื่มบางชนิดนั้นมีแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสอันมีประโยชน์ต่อร่างกายตามที่ได้โฆษณาไว้ คำศัพท์ที่ใช้กันบ่อย ๆ ได้แก่

  • Microbiota: จุลินชีพที่มีชีวิต(แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา) อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ
  • Microbiome: สารพันธุกรรมทั้งหมดของจุลินชีพ ในสภาวะแวดล้อมนั้น ๆ

เซลล์ของมนุษย์ทั้งร่างกายนั้น มีจำนวนรวมกันประมาณ 37 ล้านล้านเซลล์ และมียีนทั้งหมดราว ๆ 30,000 ยีน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์จุลินชีพทั้งหมดกว่า 1,500 สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกับร่างกายของคนเรานั้น พบว่ามีจำนวนเซลล์ของจุลินชีพรวมกันมากกว่า 100 ล้านล้านเซลล์ ซึ่งมากกว่าเซลล์ของมนุษย์เสียอีก และมียีนรวมกันมากถึง 10,000,000 ยีน ซึ่งมากกว่ายีนของมนุษย์ถึง 350 เท่า หากนำมาเปรียบเทียบเป็นกราฟเพื่อให้เห็นภาพเซลล์และสารพันธุกรรม ระหว่างคนและจุลินชีพว่าต่างกันมากน้อยแค่ไหน จะเป็นดังกราฟด้านล่างเลย โดยให้แท่งสีฟ้าเป็นตัวแทนของมนุษย์ และแท่งสีเขียวเป็นตัวแทนของจุลินชีพ

 

 

Microbiota เหล่านี้มาจากไหน ?

จุลินชีพเหล่านี้อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์เรามานานมากแล้ว และมีวิวัฒนาการร่วมกันตามธรรมชาติที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และไม่ใช่มีเพียงแค่มนุษย์เท่านั้น ที่มีจุลินชีพเหล่านี้อยู่ แต่ในสัตว์อื่น ๆ นั้นก็มีด้วยเช่นกัน เพียงแต่อาจจะเป็นจุลินชีพคนละสายพันธุ์กันเท่านั้นเอง และไม่เพียงเท่านั้น แม้ว่ามนุษย์ด้วยกันเองที่มีต้นกำเนิดมาจากคนละแห่งกัน ก็มีวิวัฒนาการร่วมกับจุลินชีพคนละสายพันธุ์กันด้วยเช่นกัน

 

Davenport et al. BMC Biology (2017)

 

Microbiome หรือ ยีนของจุลินชีพเหล่านี้ส่งผลโดยตรงกับการแสดงออกของยีนของมนุษย์เรา ในการกระตุ้นให้ยีนของเราสามารถดำเนินไปในทางที่ดี หรือแย่ต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในเรื่องดังต่อไปนี้

  • ลดความเสี่ยงหรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ
  • โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • โรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท
  • รวมไปถึงเรื่องที่หลาย ๆ คนกังวลกันอยู่ก็คือ "โรคอ้วน" นั่นเอง ดังที่เคยได้เขียนบทความเรื่อง เกิดมาพร้อมกับยีนไม่ดี ปรับไลฟ์สไตล์ช่วยได้ แผนภูมิด้านล่างนี้แสดงให้เห็นว่า Epigenetics หรือปัจจัยเหนือยีน มีผลต่อการผลักดันยีนให้แสดงออกมาเป็นตัวเราได้อย่างไร

 

 

การที่เราจะมีจุลินชีพตัวดีหรือตัวไม่ดีนั้น จริง ๆ แล้ว เริ่มขึ้นตั้งแต่แรกคลอดเลย แล้วมีปัจจะอะไรบ้างที่ส่งผลต่อ Microbiota หรือจุลินชีพ

  • การคลอดแบบธรรมชาติ vs การผ่าคลอด (หากคลอดธรรมชาติจะได้รับเชื้อตัวดีมาจากช่องคลอด)
  • การดูดนมจากเต้านมมารดา (ได้รับเชื้อมาจากหัวนมและผิวหนังของมารดา)
  • อาหารที่รับประทาน (เชื้อตัวดีมักชอบอาหารที่มีกากใย และไฟเบอร์สูง)
  • สิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ (หากสะอาดเกินไปก็อาจจะมีเชื้อโรคตัวดีน้อยเกินไป)
  • โรคภัยไข้เจ็บและการได้รับยารักษา (หากได้รับยาฆ่าเชื้อบ่อย เชื้อตัวดีจะตายจากไปด้วย)
  • การสูบบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ การติดเชื้อต่าง ๆ
  • เพศ อายุ และดัชนีมวลกาย(BMI)

อันที่จริงแล้วเชื้อเหล่านี้ อาศัยอยู่เกือบทุกส่วนของร่างกาย แต่ตำแหน่งที่เชื้อชอบมาศัยอยู่มากที่สุด และมีผลต่อสุขภาพของเราโดยตรงมาก นั่นก็คือ "ลำไส้"

เรามาดูกันว่าหากเรามีเชื้อจุลินชีพไม่สมดุล (มีเชื้อตัวไม่ดีอยู่มาก) จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

  • โรคภูมิแพ้
  • น้ำหนักเกิน (อ้วน)
  • โรคหอบหืด
  • โรคภูมิคุ้มกันตนเองบกพร่อง
  • ข้ออักเสบ
  • โรคกระดูกพรุน
  • ปัญหาผิวพรรณ เช่น สิวขึ้นผิดปกติ
  • โรคเกี่ยวกับอารมณ์ผิดปกติ
  • ความจำเสื่อม (Dementia)
  • โรคมะเร็ง
  • การอักเสบที่ผิดปกติ

การที่เชื้อในลำไส้ของเราเสียสมดุลไป มีชื่อทางการเรียกว่า Gut dysbiosis โดยจะมีลักษณะของเชื้อในลำไส้คือ

  1. มีจำนวนเชื้อตัวดีเหลืออยู่น้อย
  2. มีจำนวนเชื้อตัวร้ายอยู่มากเกิน
  3. มีความหลากหลายทางชีวภาพของเชื้อต่ำ

 

 

การเกิด Gut dysbiosis ส่วนมากเกิดมาจากการใช้ชีวิตที่ไม่ดีของเราเกือบทั้งสิ้น สิ่งแรกเลยที่เราสามารถแก้ไขได้คือการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ (เช่น mediterranean diet) ซึ่งดีต่อเชื้อตัวดีในลำไส้ รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่าง ๆ รวมถึงสารพิษต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าเชื้อด้วยตนเองที่ซื้อตามร้านขายยาโดยไม่จำเป็น เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถรักษาสมดุลเชื้อตัวดีของเราไว้ได้

หากใครที่มีภาวะเสียสมดุลของเชื้อ (Dysbiosis) ไปแล้วไม่ต้องตกใจไป เพราะยังพอมีทางแก้ไขในครั้งหน้า หมอจะมาเขียนเกี่ยวกับเรื่อง Prebiotic และ Probiotic ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการปรับสมดุลของเชื้อจุลินชีพ รวมถึงหลักการต่าง ๆในการเลือกซื้ออาหารเสริมมาใช้

 

น.พ. หลักเขต เหล่าประไพพรรณ

(Anti-aging and Integrative Medicine)

 

Reference :

Davenport et al. BMC Biology (2017)