Rated 4.98-stars across 2K+ reviews
Rated 4.98-stars across 2K+ reviews Rated 4.98-stars across 2K+ reviews Rated 4.98-stars across 2K+ reviews Rated 4.98-stars across 2K+ reviews Rated 4.98-stars across 2K+ reviews

ความสูงพ่อแม่ มีผลต่อส่วนสูงลูกอย่างไร?

GeneusDNA profile image By
GeneusDNA
|
Aug 16, 2024
|
219
ครอบครัว
สุขภาพ
พันธุศาสตร์
วิธีคำนวณความสูงลูก, ความสูงเด็ก, ส่วนสูงลูก, กรรมพันธุ์ความสูง, ความสูงเด็ก
Summary
วิธีคำนวณความสูงลูก, ความสูงเด็ก, ส่วนสูงลูก, กรรมพันธุ์ความสูง, ความสูงเด็ก

รู้หรือไม่? ความสูงพ่อแม่ ส่งผลต่อส่วนสูงลูก เปิดวิธีการคำนวณ คาดการณ์ส่วนสูงลูกชาย-ลูกสาว ในอนาคต พ่อแม่มือใหม่ควรรู้ ปัจจัยอะไรส่งผลต่อความสูงลูกบ้าง

พ่อแม่จำนวนมากคาดหวังอยากให้ลูกตัวสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกเหนือจากกรรมพันธุ์ความสูงในครอบครัว ส่วนสูงเด็กๆ ก็ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก อีกหลายอย่าง ดังนั้นบทความนี้จึงจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจว่า ความสูงพ่อแม่ มีผลต่อส่วนสูงของลูกอย่างไร และเราสามารถคาดการณ์หรือคำนวณความสูงลูก ในอนาคตได้จริงหรือไม่?

ปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อความสูงเด็ก กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน เพศ เกี่ยวจริงไหม?

วิธีคำนวณส่วนสูงลูกในอนาคต จากความสูงพ่อแม่

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีวิธีที่ใช้ในการทำนายความสูงของเด็กได้อย่างแม่นยำ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีผลการศึกษา พร้อมสูตรการคำนวณที่มักถูกใช้เป็นวิธีคาดการณ์ความสูงเด็ก ซึ่งมีความสมเหตุสมผล เนื่องจากใช้หลักการคำนวณโดยอ้างอิงตามความสูงจริงของพ่อและแม่ 

สำหรับสูตรการคำนวณส่วนสูงลูก ได้มีการระบุว่า ให้นำส่วนสูงของทั้งพ่อและแม่มารวมกัน จากนั้นให้บวก 13 เซนติเมตร สำหรับเด็กผู้ชาย หรือลบ 13 เซนติเมตร สำหรับเด็กผู้หญิง และค่อยนำตัวเลขที่ได้มาหาร 2 จึงจะได้ค่าส่วนสูงของลูกที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เช่น หากพ่อสูง 180 เซนติเมตร และแม่สูง 165 เซนติเมตร เมื่อนำมาคำนวณด้วยสูตร (180+165+13)/2 = 179 เซนติเมตรสำหรับเด็กผู้ชาย และ (180+165-13)/2 = 166 เซนติเมตรสำหรับเด็กผู้หญิง

นอกจากนี้แล้วยังมีทฤษฎีการคาดการณ์ส่วนสูงที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการนำส่วนสูงของเด็กผู้ชายตอนอายุ 2 ขวบ หรือเด็กผู้หญิงตอนอายุ 18 เดือน มาคูณสอง เพื่อให้ได้ส่วนสูงในอนาคต เช่น หากตอน 2 ขวบ เด็กชายสูง 90 เซนติเมตร ก็มีความเป็นไปได้ที่เด็กชายคนดังกล่าวจะสูง 180 เซนติเมตรเมื่อโตเต็มวัยนั่นเอง

วิธีคำนวณความสูงลูก


กรรมพันธุ์ความสูง ยีนพ่อแม่ส่งผลต่อความสูงลูกจริงหรือไม่?

ความสูงตามหลักพันธุศาสตร์ (Genetics)

การศึกษาความสูงในด้านพันธุศาสตร์มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ประมาณ 80% ของความสูงของแต่ละบุคคล ถูกกําหนดโดยความผันแปรของลําดับดีเอ็นเอ (DNA) ที่พวกเขาสืบทอดมาจากครอบครัว

ทั้งนี้ลําดับดีเอ็นเอหรือความผันแปรทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นความผันแปรในจีโนม (genomes) ของเรา คือสิ่งที่ทําให้เราไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็น สีผม สีผิว หรือแม้แต่รูปร่างของใบหน้าของเรา เป็นเหตุผลให้บุคคลในสปีชีส์เดียวกัน มีลักษณะที่คล้ายกัน แต่ไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไหร่นัก ซึ่งความแตกต่างนี้ถูกเรียกว่า ความแปรปรวนทางพันธุกรรม (Genetic variation)

Single nucleotide polymorphisms (SNPs ออกเสียงว่า สนิปส์) เป็นความผันแปรทางพันธุกรรม ที่พบบ่อยที่สุดในหมู่ผู้คน โดยหากให้อธิบายความหมายของ SNPs แบบง่ายที่สุดก็สามารถสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในพันธุกรรมที่ทำให้แต่ละคนมีลักษณะเฉพาะและสามารถใช้ในการศึกษาทางการแพทย์และพันธุศาสตร์ได้  ซึ่งเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของสายดีเอ็นเอ ตัวอย่างเช่น ในตำแหน่งหนึ่งของสายดีเอ็นเอ คนหนึ่งอาจมีเบส A (adenine) แต่คนอื่นอาจมีเบส G (guanine) การเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า SNPโดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในทุก ๆ 300 เบส และมักพบในดีเอ็นเอระหว่างยีน

นักวิจัยได้ทําการศึกษา Genome-Wide Association (GWAS) ด้วยการนำจีโนมของผู้คนไปสแกน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางพันธุกรรม ก่อนจะพบว่าลักษณะของ SNPs ในตำแหน่งเดียวกันของแต่ละคนว่า ถ้าหากมีความแตกต่างของเบสบริเวณตำแหน่งนั้น ๆ ก็จะสามารถกระทบต่อความสูงของบุคคลนั้นๆ  ได้ โดยนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้คนเกือบ 5.4 ล้านคน และระบุตัวแปรทางพันธุกรรมมากกว่า 12,000 ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อความสูง จนสามารถสรุปได้ว่า ความผันแปรด้านความสูงขึ้นอยู่กับยีนของบรรพบุรุษของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นพื้นฐานพันธุกรรมในจีโนมของเรานั่นเอง

กรรมพันธุ์ความสูง พ่อแม่ลูก


ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและโภชนาการมีผลต่อความสูงลูก จริงไหม?

นอกจากปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว ความสูงยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงโภชนาการของมารดาในระหว่างที่ตั้งครรภ์ด้วย รวมไปถึงพฤติกรรมบางอย่างของแม่ เช่น การสูบบุหรี่ การสัมผัสสารอันตราย การเลี้ยงดูลูกหลังคลอด เป็นต้น ซึ่งเด็กที่สุขภาพดี และกระฉับกระเฉงเนื่องจากครอบครัวดูแลดีตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์ มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าเด็กที่ได้รับโภชนาการไม่ดี แม่สูบบุหรี่ โตมากับครอบครัวที่มีโรคติดเชื้อ หรือได้รับการดูแลสุขภาพที่ไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น รายได้ การศึกษา และอาชีพ ก็สามารถมีอิทธิพลต่อความสูงได้เช่นกัน เนื่องจากมีการศึกษาที่ระบุว่า ในบางกรณี เช่น ครอบครัวของผู้อพยพที่โยกย้ายไปยังประเทศอื่น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมได้รับคุณค่าทางโภชนาการ การดูแลสุขภาพ และโอกาสในการจ้างงานที่ทำเงินได้ดีขึ้น ล้วนแต่มีทายาทรุ่นต่อไปที่สูงและแข็งแรงขึ้นทั้งนั้น สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม และโภชนาการเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อส่วนสูงเช่นกัน

ฮอร์โมน เพศ มีอิทธิพลต่อความสูงเด็กจริงไหม?

ในช่วงวัยแรกรุ่น ฮอร์โมนเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย ซึ่งรวมถึงฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid hormones) ฮอร์โมนการเจริญเติบโตของมนุษย์ (human growth hormones) และฮอร์โมนเพศ (sex hormones ) เช่น ฮอร์โมนเพศชาย (testosterone) และเอสโตรเจน (estrogen) ดังนั้นหากมีความผิดปกติใดๆ ในฮอร์โมนเหล่านี้ ก็อาจมีผลต่อการเจริญเติบโต อย่างความสูงได้ เช่น เด็กที่ไทรอยด์ทํางานต่ำ หรือมีความผิดปกติของต่อมใต้สมอง อาจมีโอกาสที่จะตัวเล็กกว่าที่ควรเป็น หากพิจารณาร่วมกับส่วนสูงโดยเฉลี่ยของพ่อและแม่

นอกจากนี้เพศยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดส่วนสูงด้วย เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ชายจะสูงกว่าผู้หญิง โดยจากสถิติของประชากรทั่วโลก ความสูงเฉลี่ยของผู้หญิง จะน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 12 เซนติเมตร (4.5 นิ้ว) ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลความสูงจากทั่วโลกเอาไว้ และพบว่าโดยเฉลี่ยผู้ชายจะสูง 171 เซนติเมตร ในขณะที่ผู้หญิงจะมีความสูงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 159 เซนติเมตร

พร้อมกันนี้นักวิจัยพบว่า แม้จะมีความคล้ายคลึงกันทางพันธุกรรมของเพศชายและเพศหญิง ยกเว้นโครโมโซมเพศ (Y ในเพศชายและ X ในเพศหญิง) ก็ทำให้มีการแสดงออกของยีนที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น หากพ่อแม่ตัวสูงส่งต่อยีนที่เกี่ยวข้องกับความสูง ให้กับทั้งลูกชายและลูกสาว แต่ยีนนั้นมีการแสดงออกที่ลําเอียง (sex-biased)ในยีนของผู้ชาย ยีนนั้นก็อาจมีส่วนเพิ่มความสูง ให้กับลูกชายมากกว่าลูกสาว โดยสามารถสรุปได้ว่า การแสดงออกของยีนที่ลําเอียงทางเพศ มีส่วนประมาณ 1.6 เซนติเมตร ต่อความแตกต่างของความสูงเฉลี่ยระหว่างชายและหญิง หรือ 12% ของความแตกต่างที่สังเกตได้โดยรวม

ปัจจัยที่มีผลต่อความสูงลูก


ความผิดปกติ แต่กําเนิดที่ส่งผลต่อความสูงลูก

ตัวแปรของยีนที่หายากบางชนิด มีผลกระทบอย่างมากต่อความสูง เช่น achondroplasia (โรคกระดูกอ่อนไม่เจริญเติบโต) ซึ่งเป็นความผิดปกติของการเจริญเติบโตของกระดูก ทางพันธุกรรมที่หาได้ยาก ซึ่งทำให้บุคคลนั้นๆ มีลักษณะเตี้ย โดยเป็นความผิดปกติที่เกิดจาก ตัวแปรในยีน FGFR3 

ทั้งนี้เด็กบางคนยังมีโอกาสที่สูงช้า หรือตัวเล็กกว่าคนอื่น หากมีความผิดปกติในกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่หายาก และทําให้เกิดความสูงที่ล่าช้าในวัยแรกรุ่น และยังมีความผิดปกติแต่กําเนิดอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อความสูงเด็ก เช่น กลุ่มอาการ Marfan ที่เกิดจากตัวแปรในยีน FBN1 ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโปรตีนที่จำเป็นต่อการสร้าง เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ส่งผลต่อความสูง เช่นเดียวกับกลุ่มอาการ Klinefelter ที่เกิดขึ้นกับเพศชายที่เกิดมาพร้อมโครโมโซม X ที่เกินมา

สรุปได้ว่า ส่วนสูงเด็กมีอิทธิพลจากทั้งกรรมพันธุ์ ปัจจัยแวดล้อม เพศ และฮอร์โมน โดยความสูงของแต่ละบุคคลถูกกําหนดด้วยพันธุกรรมเป็นหลัก (ประมาณ 80%) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอื่นๆ รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โภชนาการ สภาพแต่กําเนิด และเพศก็ส่งผลต่อส่วนสูงเช่นกัน

 

chat line chat facebook